วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552

การตำข้าว

ความเชื่อและพิธีกรรม

วันจกข้าว คือวันที่ขึ้นไปตักข้าวเปลือกออกจากยุ้งฉาง เพื่อนำไปตำให้เป็นข้าวสารโดยทั่วไปจะห้ามตำข้าวในวันพระ นอกจากนั้นคนโบราณยังมีตำราดูฤกษ์ดูวัน เรียกว่า “ต๋ารางวันจกข้าว” และ “วันผีช่วยกิน” ถ้าจกไม่ดูตำราก่อน เมื่อไปถูกหรือตรงกับวันที่ห้ามจกข้าวแล้ว เชื่อว่าจะทำให้ข้าวในยุ้งนั้นหมดเร็วกว่าปกติ

ต๋ารางวันจกข้าว ตารางวันจกข้าวทำด้วยไม้ไผ่ผ่าซีกหรือไม้จริง กว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร ด้านหนึ่งทำเครื่องหมายขีดเป็นตาราง 2 แถวจากด้านบนลงล่าง แถวละ 15 ช่องตามจำนวนวันขึ้นแรม โดยแถวหนึ่งเป็นข้างขึ้น อีกแถวหนึ่งเป็นข้างแรม สำหรับดูวันที่จะตักข้าวเปลือกไปตำ ไปสี มักจะผูกแขวนไว้ที่ประตูยุ้งข้าว



ไม้ต๋ารางวันจกข้าว

วันผีช่วยกิน นอกจากต๋ารางวันจกข้าวแล้ว ยังมีตารางที่ใช้ประกอบดูวันอีกชนิดหนึ่ง คือวันผีช่วยกิน เรียกว่า “ตารางวันผีตามอยช่วยกินข้าว” เป็นตารางบอกว่าวันไหนผีช่วยกินกี่ตัว วันไหนผีไม่กินสักตัว ถ้าตรงกับวันผีช่วยกินห้ามไม่ให้ตักข้าวออกจากยุ้ง เพราะผีจะช่วยกินข้าวให้หมดเร็ว การดูตารางวันที่ผีตามอยช่วยกินข้าวให้นับตั้งแต่ 1 ค่ำ ไปถึง 15 ค่ำ แถวบนเป็นเดือนข้างขึ้น แถวล่างเป็นเดือนข้างแรม


ในการตักข้าวเปลือกไปตำนั้น คนโบราณท่านว่าไม่จำเป็นไม่ควรใช้กระบุงหรือภาชนะอย่างอื่นตัก ข้าว จะทำให้ขวัญข้าวหนี แต่จะใช้ “อองเต่า” (คือกระดองเต่าที่ตัวตายไปแล้ว) เป็นภาชนะตักข้าวเปลือกจากยุ้งใส่กระบุง เมื่อจะนำข้าวออกไปตำไปสี

ทานข้าวใหม่ เมื่อนำข้าวเปลือกใส่ยุ้งฉางแล้ว เจ้าของบ้านจะยังไม่เอาข้าวใหม่มาตำหรือสีกินจนกว่าจะได้ทำบุญข้าวใหม่เสียก่อน เรียกว่า “ทานข้าวใหม่” เพื่ออุทิศกุศลไปถึงเทวดา ผีขุนน้ำ (เช่น ขุนหลวงบ่าลังคะ เป็นต้น) และปู่ย่าตายาย พ่อแม่ที่เป็นเจ้าของไร่นามาแต่เดิม สำรับข้าวที่จะทานข้าวใหม่ประกอบด้วย ข้าวเหนียวนึ่งสุก อาหารตามความนิยมของท้องถิ่น บางแห่งมีห่อนึ่งหัวปลีหรือห่อนึ่งไก่ 1 ห่อ บางท้องถิ่นมีแกงวุ้นเส้น แกงอ่อม บางท้องถิ่นมีปลาย่างหรือปลาบ้วง 1 ตัว ข้าวจี่ และข้าวหลาม
การทานข้าวใหม่นี้ใครเก็บเกี่ยวเสร็จก่อนก็ยกไปทำบุญก่อน สำหรับวันที่นัดพร้อมกันไปทำบุญทานข้าวใหม่ที่วัด คือ วันเพ็ญเดือน 4 เหนือ (ประมาณเดือนมกราคม) ซึ่งเรียกวันนี้ว่า “เดือน 4 เป็ง” สมัยโบราณในวันนี้ทางวัดทุกวัด จะจัดให้มีประเพณีทานข้าวใหม่ และก่อกองฟืนที่หน้าวิหาร เพื่อจุดไฟให้พระประทานในวิหารได้ผิงแก้หนาวในเช้าของวันเดือน 4 เป็ง ด้วย เรียกกองฟืนนี้ว่า “หลัวหิงพระเจ้า” หน้าพระประธานในวิหารจะปูเสื่อกะลาไว้ 2 จุด แต่ละจุดตั้งบาตรพระไว้ 1 ลูก สำหรับให้ชาวบ้านนำข้าวเปลือก และข้าวสาร มาใส่บาตร เพื่อทานเป็นข้าวล้นบาตร หรือเรียกว่า หล่อข้าวบาตร หรือการทานดอยข้าว ซึ่งข้าวนี้พระภิกษุสามเณรจะเก็บไว้ฉันเวลาที่ฝนตกหนักออกบิณฑบาตไม่ได้

การสวนหรือตวงข้าวเปลือก

หลังจากที่พัดข้าวลีบหรือเศษฟางข้าวออกหมดแล้ว ก่อนที่จะขนข้าวกลับบ้านชาวไร่ชาวนาบางพื้นที่จะใช้เครื่องตวงวัดเรียกว่า “ต๋าง” (เท่ากับประมาณ 1.5 ถัง) หรือ “ต๋างควาย” (เท่ากับประมาณ 2 ถัง) สวนหรือตวงข้าวเปลือก เพื่อให้ทราบปริมาณข้าวเปลือกที่ได้ในแต่ละปี

ในบางพื้นที่จะไม่ใช้ต๋างในการนับปริมาณข้าวเปลือกแต่จะนับจากจำนวนถุงผ้าหรือกระสอบที่ใช้บรรจุข้าวเปลือกว่าได้กี่ถุงหรือกี่กระสอบ

วิธีการพัดข้าว

วิธีการพัดข้าว

การกำจัดเศษฟางข้าว ฝุ่นผง และข้าวลีบออกไปจากข้าวเปลือก สามารถทำได้
หลายวิธี วิธีที่ 1 เอาสาดกะลาปูใกล้ๆ บริเวณกองข้าวเปลือก แล้วใช้ภาชนะ เช่น กระบุง ตักข้าวเปลือกจากกอง ยกกระบุงข้าวเปลือกนั้นชูขึ้น แล้วเทข้าวเปลือกลงมาบนสาดกะลา ในขณะที่ข้าวเปลือกตกลงสู่สาดกะลานั้น จะมีคน 1-2 คนยืนอยู่ข้างๆ คอยใช้ก๋าวีพัด
วิธีที่ 2 วิธีนี้จะพัดเมื่อฟาดข้าวในตารางหรือฟาดบนแคร่ได้ข้าวเปลือกจำนวนหนึ่งแล้ว โดยใช้ก๋าวีพัดบนกองข้าวเปลือกสลับกับการฟาดข้าวเป็นระยะๆ สำหรับการพัดข้าวเปลือกที่ได้จากการฟาดบนแคร่รูปร่างคล้ายกับโต๊ะ ในช่วงแรกที่ได้ข้าวเปลือกจำนวนไม่มากนักจะพัดใต้แคร่เป็นระยะๆ โดยยังไม่ต้องยกแคร่ออก (เนื่องจากแคร่มีความสูง) ฟาดข้าวไปก็พัดไป ส่วนในช่วงหลังถ้าฟาดข้าวจนได้ข้าวเปลือกสูงท่วมแคร่แล้ว ต้องยกแคร่ออกก่อนถึงจะพัดได้
วิธีที่ 3 ใช้ไม้ผากหรือเปี้ยดหรือน้ำครุ (กระป๋อง) ตักข้าวเปลือกโยนขึ้นไปบนอากาศ เรียกว่า “หะข้าว” หรือ “โจ้นข้าว” หรือ “โจ้ข้าว” เพื่อให้ข้าวเปลือกไปตกที่สาดกะลาที่ปูใกล้ๆ บริเวณกองข้าวเปลือก ในกรณีที่ฟาดข้าวโดยใช้ครุรองรับบางคนอาจจะหะข้าวจากในครุเลย
ในขณะที่หะข้าวต้องเอียงไม้ผากเล็กน้อย การหะต้องทำให้ได้จังหวะพอดี ไม่แรงหรือเบาเกินไป ให้มีลักษณะ “เป็นงวงเป็นงา” (โค้งลง) ซึ่งจะทำให้เศษข้าวลีบและฝุ่นปลิวออกไปได้ง่าย และยังช่วยไม่ให้ข้าวเปลือกกระเด็นออกไปนอกสาดกะลาในขณะที่หะ ในจังหวะที่หะข้าวคนที่ยืนอยู่ข้างๆ จะใช้ก๋าวีพัด
วิธีที่ 4 ชาวม้งบางพื้นที่จะหาต้นไม้ที่แข็งแรงสูงประมาณ 4-5 เมตร เก็บเศษหิน เศษกิ่งไม้บริเวณด้านล่างของต้นไม้ออกให้หมด เพื่อให้พื้นราบเสมอกัน แล้วใช้สาดกะลา จำนวน 4-5 แผ่น ปูไว้ได้ต้นไม้นั้น แล้วนำบันไดฟาดต้นไม้ แล้วปีนขึ้นไปค่อยๆ เทข้าวลงมาบนสาดกะลาที่เตรียมไว้ เพื่อให้ลมช่วยพัดเศษข้าวลีบต่าง
วิธีที่ 5 ชาวกะเหรี่ยงนำไม้ไผ่มาทำบันได โดยฝังเสาลึกลงไปในดิน ให้บันไดตั้งฉากกับพื้นดิน แล้วนำข้าวเปลือกใส่ตะกร้าแบกขึ้นไปบนบันได ค่อยๆ เทข้าวเปลือกลงสู่พื้นด้านล่าง ซึ่งจะมีสาดกะลาปูอยู่ ถ้าในขณะที่เทข้าวลงมาไม่มีลมพัด คนที่อยู่ด้านล่างก็จะใช้ก๋าวีพัด

อุปกรณ์การพัดข้าว

การกำจัดสิ่งที่ปนอยู่กับข้าวเปลือกนั้น ใช้อุปกรณ์ดังนี้

“ผาก“ หรือ “กะจุ้น” หรือ “ไม้โจ้ข้าว” ทำด้วยไม้สักท่อนใหญ่ นำมาทำให้มีลักษณะคล้ายพลั่วตักดิน ผากมีหลายขนาด ใช้สำหรับตักข้าวเปลือกโยนขึ้นไปบนอากาศ แต่บางคนจะใช้เปี้ยด หรือกระบุง (ปัจจุบันบางคนใช้กระป๋อง) ตักข้าวเปลือกแทนผาก



ผาก


ก๋าวีหรือวี ทำจากไม้ไผ่นำมาสานให้เป็นวงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 50 เซนติเมตร ยึดติดกับไม้ไผ่ที่ทำเป็นด้าม ก๋าวีเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการพัดข้าวเปลือก เพื่อให้เศษข้าวลีบและฝุ่นผงที่ปนอยู่กับข้าวเปลือกหลุดออกไป (ปัจจุบันมีการดัดแปลงเครื่องตัดหญ้าแบบสะพายไหล่ โดยเอาใบพัดของพัดลมใส่แทนใบเลื่อย หรือใช้พัดลมไฟฟ้า พัดข้าวแทนก๋าวีเป็นการทุ่


ก๋าวี หรือวี

การพัดข้าวเปลือก

เมื่อนวดหรือฟาดข้าวหรือซ้อมขี้เฟื้อนจนได้ข้าวเปลือกจำนวนหนึ่งแล้ว ในกองข้าวเปลือกนั้นจะมีทั้งเศษฟางข้าว ข้าวลีบ ปะปนอยู่ในกองข้าวเปลือก ก็จะต้องกำจัดสิ่งเหล่านั้นก่อนที่จะขนข้าวเปลือกไปไว้ในยุ้งฉางต่อไป

การซ้อมขี้เฟื้อน

ในขณะที่ฟาดข้าวจะมีที่ข้าวที่หักหลุดออกจากมัดหรือไม้หนีบ ร่วงลงไปบนกองข้าวโดยที่ยังมีข้าวเปลือกติดอยู่ที่รวงข้าว บางคนเรียกว่า “ขี้เฟื้อน” หรือ “ขี้เฮอะ” หรือ “ขี้ข้าว” ในขั้นตอนนี้การทำให้ข้าวเปลือกที่ติดอยู่ที่รวงข้าวหลุดออกจากรวง เรียกว่า “ซ้อมขี้เฟื้อน” หรือ “เอาขี้เฟื้อน” หรือ “เอาขี้เฮอะ” หรือ “เล่นขี้ข้าว”
การซ้อมขี้เฟื้อน

ไม้สางข้าว

วิธีการนวดหรือฟาดข้าว

การ “ตีตาราง” เริ่มจากการนำสาดกะลา (ปัจจุบันนิยมใช้ผ้าเต๊นท์แทน เนื่องจากมีน้ำหนักเบาและสามารถขนย้ายได้ง่ายกว่าสาดกะลา) มาปูบนตารางที่เตรียมไว้ แล้วมายืนบนสาดกะลา ยกข้าวเฟ่าชูขึ้น แล้วฟาดส่วนที่เป็นรวงข้าวลงไปบนสาดกะลา บางคนอาจจะใช้ไม้ตีซ้ำไปที่ข้าวเฟ่า เพื่อให้แน่ใจว่าข้าวเปลือกหลุดออกจากรวงหมดแล้ว

การตีแคร่ การฟาดข้าวโดยใช้แคร่รองรับเรียกว่า “ตีแคร่” โดยจะปูตารางด้วยสาดกะลาเป็นบริเวณกว้าง เพราะการฟาดแต่ละครั้งข้าวเปลือกจะกระเด็นไปไกลพอสมควร การฟาดข้าวเฟ่าไปบนแคร่ (แบบวางทางแนวนอน แคร่วางทางแนวตั้ง และแคร่ลูกระนาดบางแบบ) ผู้ฟาดจะยืนอยู่ด้านหลังแคร่ เมื่อฟาดข้าวเฟ่าไปบนแคร่ ข้าวเปลือกจะหลุดจากรวงไปกองอยู่หน้าแคร่ด้านหน้าของผู้ฟาด

การตีครุ การฟาดข้าวโดยใช้ครุรองรับเรียกว่า “ตีครุ” ผู้ฟาดจะยืนอยู่ภายนอกครุ เมื่อฟาดข้าวจะยกข้าวเฟ่าขึ้นให้ด้านที่มีรวงข้าวอยู่ภายในครุ ข้าวเปลือกก็จะหลุดจากรวงตกอยู่ภายในครุ อย่างไรก็ตามชาวลื้อบางพื้นที่จะไม่ใช้วิธียกข้าวเฟ่าขึ้นแล้วฟาดลงไปในครุ แต่จะเอาข้าวเฟ่าวางในครุให้ด้านที่มีรวงข้าวหันเข้าหาศูนย์กลางของครุ แล้วใช้ไม้เป๋ฟาดไปที่ข้าวเฟ่านั้น

วิธีการนวดหรือฟาดข้าว

วิธีการทำให้ข้าวเปลือกหลุดออกจากรวงข้าวมีหลายวิธี ได้แก่ การย่ำข้าว การตีข้าวและการฟาดข้าว

การย่ำข้าว ในอดีตชาวไร่ชาวนาบางพื้นที่มีวิธีทำให้ข้าวเปลือกหลุดออกจากรวงข้าว โดยใช้เท้าเหยียบข้าวเฟ่า เรียกว่า “ย่ำข้าว” เริ่มจากเอาสาดกะลาปูบนตารางที่เตรียมไว้ แล้วเอาข้าวเฟ่ามาวางบนสาดกะลา และให้คนใช้เท้าเหยียบข้าวเฟ่าหลายๆ ครั้ง สลับกับการใช้เท้าพลิกข้าวเฟ่ากลับไปกลับมา จนข้าวเปลือกหลุดออกจากข้าวเฟ่านั้น บางคนจะใช้มือลูบบริเวณรวงข้าวซ้ำอีกครั้ง เพื่อตรวจดูให้แน่ใจว่าข้าวเปลือกหลุดจากรวงข้าวหมดแล้ว หลังจากนั้นจึงเอาฟางข้าวออกไปกองไว้นอกสาดกะลา ทำเช่นนี้เรื่อยไป

การใช้ไม้ตีข้าว ชาวลัวะในบางพื้นที่จะใช้วิธีเข้าไปยืนในสาดกะลาที่ปูไว้ แล้วเอาข้าวเฟ่ามาประมาณ 1 หอบ ใช้ขาบริเวณเหนือข้อเท้าเล็กน้อยหนีบข้าวเฟ่าเอาไว้ ส่วนของต้นข้าวจะเอนราบไปบนสาดกะลา หันรวงข้าวออกไปทางด้านหน้าของผู้ตี ส่วนชาวขมุในบางพื้นที่จะเอาข้าวเฟ่าวางไปบนสาดกะลาเลย แล้วใช้ 2 มือถือ “ก๋าลี” ข้างละอัน แล้วฟาดก๋าลีไปที่ข้าวเฟ่า การฟาดจะฟาดสลับกันทีละข้าง ซ้ายทีขวาที โดยจะฟาดอย่างต่อเนื่องกันหลายๆ ครั้ง และพลิกข้าวเฟ่ากลับเอาข้าวเฟ่าที่อยู่ด้านล่างขึ้นมาตี เมื่อเห็นว่าข้าวเปลือกหลุดออกจากรวงแล้ว ก็จะใช้ก๋าลีหันด้านโค้งงอเข้าหากันไปหนีบข้าวเฟ่าที่ฟาดแล้ว ยกขึ้นมาเขย่าหลายๆ ครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าข้าวเปลือกหลุดออกจากรวงข้าวหมดแล้ว


การฟาดข้าว เป็นการทำให้ข้าวเปลือกหลุดออกจากรวง ผู้ที่ทำหน้าที่ฟาดข้าวจะใช้ม้าวหรือไม้หนีบ(ดูอุปกรณ์ในการฟาดข้าวประกอบ) ไปรัดหรือหนีบโคนของข้าวเฟ่า (ส่วนการใช้ไม้แก๊งจะใช้เชือกที่ผูกติดกับไม้แก๊งทำเป็นห่วงไปคล้องส่วนโคนของข้าวเฟ่า ดึงเชือกให้ห่วงรัดข้าวเฟ่าให้แน่น โดยให้ปลายแหลมของไม้แก๊งแนบไปกับข้าวเฟ่า) เอาฟาดไปบนอุปกรณ์ที่ใช้รองรับ และมักจะเรียกวิธีฟาดข้าวนั้นตามอุปกรณ์ที่ใช้รองรับ เช่น ถ้าฟาดข้าวกับพื้นตารางก็เรียกว่า “ตีตาราง” ถ้าใช้ครุรองรับ เรียกว่า“ตีครุ” และ ถ้าใช้แคร่รองรับเรียกว่า “ตีแคร่

อุปกรณ์รองรับการฟาดหรือตีข้าว

นอกจากอุปกรณ์ในการนวดข้าวหรือฟาดข้าวแล้ว ชาวไร่ชาวนายังมีอุปกรณ์รองรับการนวดหรือฟาดหรือตีข้าวหลายชนิด เช่น เสื่อ ครุ และ แคร่ เป็นต้น

เสื่อ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “สาดกะลา” หรือ “กะลา” หรือ “สาดสาน” เป็นเสื่อที่ทำจากไม้ไผ่ที่นำมาจักสาน การสานนิยมทำ 2 แบบ คือการสานแบบหักมุมทำเป็นคอก สำหรับใส่ล้อหรือเกวียนเพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวหล่นออกไป และการสานเป็นผืนรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมาก ในอดีตชาวไร่ชาวนาจะนำสาดกะลามาใช้ในกิจกรรมต่างๆ (ปัจจุบันนิยมนำผ้าเต๊นท์มาใช้งานแทนสาดกะลามากขึ้น เนื่องจากผ้าเต๊นท์มีน้ำหนักเบาสะดวกในการเคลื่อน ย้ายไปใช้งานในบริเวณต่างๆ) เช่น การตากผลผลิต การใช้ปพื้นรองรับการนวดหรือฟาดข้าว การใช้ปูพื้นหรือบังด้านข้างเสวียนหรือยุ้งข้าว เป็นต้น



สาดกะลาม้วนเก็บไว้หลังจากใช้งานแล้ว


“ครุ” (อ่านออกเสียงว่า “คุ”) มีหลายขนาด ขนาดใหญ่มีส่วนปากกว้างประมาณ 2.5-3 เมตร สูงประมาณ 1 เมตร
ในการสานครุจะนำส่วนผิวของไม้ไผ่ (นิยมใช้ “ไม้ไผ่ซางเย็น”) มาจักเป็นตอกกว้างประมาณ 1 นิ้ว นำมาสานลายสอง เมื่อสานได้ขนาดพอสมควร นำไปวางบนหลุมวงกลม แล้วขึ้นไปเหยียบเพื่อให้บริเวณศูนย์กลางนูนขึ้นมา เรียกว่า “ทำหมก” (ส่วนที่โค้งนูนขึ้นมา เรียกว่า “หมง”) หลังจากนั้นใช้คนอย่างน้อย 4 คนช่วยกันสานต่อขึ้นมาเป็นวงกลม โดยในขณะที่สานยังคงวางส่วนก้นครุอยู่ในหลุม



หลุมที่ใช้ในการสานครุ





หมง



“แคร่” (อ่านออกเสียงว่า “แค่”) หรือบางพื้นที่เรียกว่า “แคะ” เป็นอุปกรณ์ที่ใช้รองรับการฟาดข้าวประเภทหนึ่ง แคร่มีหลายลักษณะ เช่น แคร่วางทางนอน แคร่วางทางตั้ง และแคร่ลูกระนาด



แค่ร ลูกระนาด

ก๋าลีหรือกาละบัดหรือค้อนงอ

เป็นเครื่องมือฟาดข้าวของชาวลัวะและชาวขมุ ในบางพื้นที่ ก๋าลีทำจากไม้ไผ่ส่วนลำต้นถึงราก ที่มีลักษณะโค้งงอ ส่วนด้ามยาวประมาณ 1 เมตร การเลือกไม้ไผ่มาทำก๋าลีจะต้องเลือกไม้ไผ่ที่แก่จัด ไม่มีรอยแตก เอามาตากให้แห้งก่อนการนำไปใช้งานเพื่อความทนทาน








ก๋าลีหรือกาละบัดหรือค้อนงอ

อุปกรณ์การฟาดข้าวหรือตีข้าว

นอกจากม้าวแล้ว อุปกรณ์ที่ชาวไร่ชาวนาใช้ในการหนีบรัดข้าวเฟ่า ได้แก่ ไม้หนีบ ไม้แก๊ง





ไม้แก๊ง


ไม้หนีบ

การทำให้ข้าวเปลือกหลุดออกจากรวงข้าวอีกวิธีหนึ่ง ได้แก่ การใช้อุปกรณ์ชนิดใดชนิดหนึ่งฟาดหรือตีที่ข้าวเฟ่า ซึ่งมีอุปกรณ์ในการฟาดหลายแบบ “ไม้เป๋” หรือ “ค้อนเปีย” หรือ “ไม้กะแร๊ง” เป็นอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่ชาวลื้อ ชาวขมุ และชาวม้งบางพื้นที่ ใช้ในการฟาดข้าวเฟ่า มีลักษณะคล้ายกับไม้ที ส่วนด้ามทำจากไม้ไผ่ มีความยาวของด้ามประมาณ 1 เมตร ส่วนหัวของไม้เป๋ทำจากไม้จริงหรือไม้ไผ่ยาวประมาณ 1 คืบ เจาะรูตรงกลางเสียบเข้ากับด้ามที่ทำจากไม้ไผ่

การนวดและฟาดข้าว

ความเชื่อ พิธีกรรม

วิธีป้องกันผีขโมยข้าวเปลือก

เมื่อข้าวในนาสุกแล้ว พ่อนาจะทำตารางเพื่อนำข้าวเปลือก(ที่พัดเศษข้าวลีบออกไปแล้ว) มากองไว้ และจะนำไม้ไผ่กว้างประมาณ 5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร จำนวน 4 อัน ที่ผิวนอกของไม้ลงอักขระคาถา ชื่อ “นะโมตาบอด” จากนั้นนำไปแขวนกับหลักไม้ไผ่ที่ตอกไว้ 4 มุมของตารางที่นำข้าวเปลือกมากอง เพื่อป้องกันผีที่จะมาขโมยข้าวไม่ให้มองเห็นเมล็ดข้าว

ขั้นตอนต่อจากการตากข้าวหรือการกองข้าว คือการทำให้ข้าวเปลือกหลุดจากรวงข้าว เรียกว่าการ “ย่ำข้าว” หรือ ”บุบข้าว” หรือ “ฟาดข้าว” หรือ “ตีข้าว” การทำให้ข้าวเปลือกหลุดออกจากรวงข้าวนี้ ในอดีตหลายคนจะทำในเวลากลางคืน (ถ้าเป็นคืนเดือนมืดจะใช้ตะเกียงจุดให้แสงสว่าง) เพราะในช่วงกลางวันไม่มีเวลาว่าง เนื่องจากต้องไปตอบแทนแรงงานผู้อื่นซึ่งมาช่วยงานในไร่นาของตน ก่อนจะนวดหรือฟาดข้าว ชาวไร่ชาวนาก็จะไปขนข้าว (จากที่ตากแดดหรือเอาออกจากกองข้าว) มาวางที่ตาราง เรียกขั้นตอนนี้ว่า “ลอมข้าว” การลอมข้าวนี้บางคนจะเอาข้าวเฟ่ามาวางซ้อนกันเป็นวงกลมหรือสี่เหลี่ยมรอบตาราง โดยเว้นช่องว่างให้คนสามารถเข้า-ออกตารางได้
ชาวไร่ชาวนามีวิธีการทำให้ข้าวเปลือกหลุดจากรวงข้าวหลายวิธี แต่ละวิธีมีอุปกรณ์ให้เลือกใช้หลายชนิด ซึ่งแบ่งตามลักษณะของการใช้งานได้เป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ อุปกรณ์การฟาดหรือตีข้าว และอุปกรณ์รองรับการฟาดหรือตีข้าว

การกองข้าว

ในอดีตนั้นเกือบทุกขั้นตอนในการทำนาจนกระทั่งถึงการเก็บข้าวใส่ยุ้งฉาง ต้องอาศัยแรงงานคนเป็นส่วนใหญ่ และบางช่วงต้องการใช้แรงงานคนเป็นจำนวนมาก จึงเกิดความขาดแคลนแรงงานขึ้นในบางช่วง งานที่สามารถรอได้ก็จะชลอเวลาไว้ก่อน ในขณะเดียวกันก็หาวิธีที่จะไม่ทำให้เกิดความเสียหายขึ้น เช่น หลังจากข้าวที่ตากแดดไว้แห้งดีแล้ว ชาวไร่ชาวนาที่ยังไม่สามารถฟาดข้าวได้ในขณะนั้น จะหาวิธีเก็บรักษาผลผลิตไว้ก่อน โดยจะเก็บรวบรวมข้าวที่แห้งแล้วนั้นนำไปวางซ้อนกันหลายๆ ชั้น เรียกว่า “กองข้าว” เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวเกิดความเสียหายจากการถูกสัตว์มากินและป้องกันไม่ให้เปียกน้ำ แล้วรอจนกว่าจะมีแรงงานพอหรือจนกว่าจะมีเวลาว่าง จึงจะทำการนวดหรือฟาดข้าวต่อไป

ลักษณะกองข้าว การกองข้าวมี 2 ลักษณะ คือแบบกลมและแบบสี่เหลี่ยม

วิธีการกองข้าว การกองข้าวมักจะทำใกล้หรือในตาราง เมื่อทำตารางแล้วก่อนจะเอาข้าวเฟ่ามาวาง ในอดีตบางคนจะเอาฟางข้าวหรือใบสักหรือใบตอง (ตามแต่จะหาได้) วางซ้อนกันหลายๆ ชั้นบนตาราง เพื่อป้องกันไม่ให้เมล็ดข้าวร่วงลงไปที่พื้นดิน แล้วจึงเอาข้าวเฟ่าหรือมัดข้าวมาวาง
ในการกองข้าวแบบกลมนั้น จะเอาข้าวเฟ่าวางเรียงเป็นวงกลม โดยวางให้ปลายข้าวเฟ่าด้านที่มีรวงข้าวเข้าข้างในวงกลม หันส่วนโคนของข้าวเฟ่าออกด้านนอก เพื่อป้องกันไม่ให้รวงข้าวเปียก เมื่อวางข้าวเฟ่าซ้อนขึ้นไปหลายๆ ชั้นจนสูงประมาณ 1.5-2 เมตร ถ้ายังมีข้าวเฟ่าเหลืออยู่ก็ทำกองใหม่ต่อไป บางคนจะหาฟางข้าวหรือใบสักหรือใบตองคลุมด้านบนของกองข้าวแต่ละกอง เพื่อไม่ให้รวงข้าวเปียกฝนหรือน้ำค้าง ภายในกองข้าวแบบกลม บางคนจะเว้นช่องว่างตรงกลางวงกลมไว้เล็กน้อย เรียกว่า “ใจกองข้าว” ถ้ามีกล้วยที่แก่แล้วก็จะนำกล้วยทั้งเครือมาใส่ไว้ที่ใจกองข้าว เพื่อบ่มให้สุก สำหรับการกองแบบสี่เหลี่ยม จะเอาข้าวเฟ่าวางเรียงเป็นแนวสี่เหลี่ยม โดยวางให้ปลายข้าวเฟ่าด้านที่มีรวงข้าวเข้าข้างในเช่นกัน

อุปกรณ์ในการลำเลียงข้าว

หลังจากเมาะข้าวแล้ว ก็จะขนข้าวไปรวมที่ตารางหรือใกล้ๆ ตาราง ในการขนข้าวนอกจากการใช้มือหอบแล้ว ชาวไร่ชาวนามีอุปกรณ์ที่ช่วยทุ่นแรงในการขนย้ายหลายชนิด เช่น หลาว ม้าว ขาหมา เป๊อะ ผ้า เป็นต้น

หลาว เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการหาบ ที่มีลักษณะปลายทั้งสองข้างแหลมเพื่อใช้เสียบมัดข้าว วัสดุที่ใช้ทำหลาวมีทั้งไม้ไผ่และไม้จริง หลาวไม้จริง ทำจากไม้จริงที่นำมาทำให้เรียวยาว ส่วนปลายทั้งสองข้างแหลมตรงหรืองอนเล็กน้อย เจาะรูตรงกลาง 2 รูเพื่อสอดขาหยั่งเข้าไปเมื่อจะใช้งาน หลาวไม้ไผ่ ทำจากไม้ไผ่ทั้งลำ โดยเฉือนปลายทั้ง 2 ข้างให้แหลมในลักษณะขนานกัน เพื่อให้สามารถรับน้ำหนักของมัดข้าวได้ และไม่หักง่าย

ม้าว ทำจากเชือกปอหรือฟางข้าวนำมาพันกันเป็นเส้น ยาวประมาณ 1 เมตร


หลาวไม้จริงวางแบบคว่ำอยู่บนขาหยั่ง




หลาวไม้ไผ่


ม้าว



ตะกร้า หรือกระบุง เป็นเครื่องสานทรงสูง ปากตระกร้ากลมหรือรีๆ นิยมใช้ในกลุ่มของชาวกะเหรี่ยง ชาวม้ง ชาวขมุ และชาวลัวะ ลักษณะของตะกร้าหรือกระบุงนี้แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ และมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น “เป๊อะ” (ในบางพื้นที่คำว่า “เป๊อะ” มี 2 ความหมายคือ หมายถึงภาชนะใส่ของ และวิธีการแบกโดยใช้ศีรษะหรือบ่าในการรับน้ำหนัก) “ก๋วย” “กึ” เป็นต้น



เป๊อะ


กึ

วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2552

การขนข้าว

เมื่อข้าวที่ตากไว้แห้งดีแล้ว ชาวไร่ชาวนาจะเก็บรวบรวมข้าวที่วางตากไว้ เรียกว่า “เมาะข้าว” นำมารวมกันบนตอข้าวเป็นกองๆ ข้าวแต่ละกองนี้เรียกว่า “ข้าวเฟ่า”






เก็บรวบรวมข้าวที่ตาก (เมาะข้าว)



ข้าวเฟ่า

การทำตาราง

ในช่วงที่รอให้ข้าวแห้ง ชาวไร่ชาวนาก็จะทำ “ตาราง” (อ่านออกเสียงว่า ต๋าลาง)โดยเริ่มจากการเลือกพื้นที่บริเวณใดบริเวณหนึ่ง ซึ่งมักเลือกจุดที่เป็นศูนย์กลางของพื้นที่นา เพื่อย่นระยะทางที่จะขนข้าวมาฟาด ส่วนชาวไร่มักจะเลือกบริเวณไหล่เขาที่ค่อนข้างเรียบเสมอกัน


เมื่อเลือกพื้นที่ได้แล้วจะตัดหรือขุดตอข้าวในบริเวณนั้นออก บางคนอาจใช้วิธีทุบตอข้าวให้แบนราบไปกับพื้นดิน ถ้ามีมูลวัวหรือมูลควายก็นำมาทาให้ทั่วตารางนั้น ตากแดดไว้ประมาณ 2-3 วัน มูลวัวมูลควายนั้นก็จะแห้ง การทำเช่นนี้เพื่อให้พื้นดินบริเวณนั้นเรียบและแข็ง ทั้งยังช่วยอุดรอยแยกของพื้นดินป้องกันไม่ให้ข้าวเปลือกตกลงไปตามรอยแยกนั้น ในกรณีที่จะใช้ฟางข้าวหรือเสื่อไม้ไผ่รองพื้น ก็ไม่จำเป็นต้องทาตารางนั้นด้วยมูลวัวมูลควาย

ตารางในพื้นที่ปลูกข้าว

การตากข้าว

ขั้นตอนต่อไปที่ชาวไร่ชาวนาทำหลังจากเกี่ยวข้าวแล้ว ได้แก่ การตากข้าว โดยนำข้าวที่เพิ่งเกี่ยวเสร็จมาตากแดดประมาณ 5-7 วันหรือจนกว่าข้าวจะแห้ง เพื่อให้การนวดหรือฟาดข้าวทำได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นการตากข้าวยังช่วยลดความชื้นของเมล็ดข้าวด้วย การตากข้าวทั้งข้าวนาและข้าวไร่มักทำในบริเวณพื้นที่ปลูกข้าวนั่นเอง ซึ่งมีหลายวิธี ได้แก่


ในการวางข้าวที่เกี่ยวแล้วบนตอข้าว บางคนอาจหักตอข้าวให้พับลงเล็กน้อย แล้วจึงเอาต้นข้าววางพาดในแนวเฉียงกับตอข้าวให้ส่วนโคนติดพื้นดินให้ด้านรวงข้าวตั้งขึ้น หรือวางพาดในแนวราบบนตอข้าว หรือบางคนจะวางพาดไขว้กันคล้ายสับฟันปลา





การหักตอข้าวเพื่อเอาข้าวมาวางตากแดด





การตากบนราวข้าว


ชาวม้งและชาวเมี่ยนในบางพื้นที่ จะทำราวสำหรับใช้ตากข้าว โดยใช้ไม้ไผ่ (ลำใหญ่ๆ และแข็งแรง ยาวประมาณ 2-4 เมตร) 2-3 ลำมาปักไว้ที่พื้นดิน แต่ละลำปักให้ห่างกันประมาณ 2 วา เพื่อเป็นเสาหลัก ราวที่สูงมากๆ จะใช้ไม้ไผ่ค้ำไว้ไม่ให้ล้ม จากนั้นเอาไม้ไผ่มามัดในแนวขวางกับเสาหลักเป็นชั้นๆ ขึ้นไป ชั้นล่างสุดมัดให้สูงจากพื้นประมาณครึ่งเมตร



การตากข้าวบนราว


วิธีเก็บเกี่ยวข้าว

ในช่วงของการเกี่ยวข้าวเป็นอีกช่วงหนึ่งที่มีความต้องการใช้แรงงานจำนวนมาก ชาวไร่ชาวนามีวิธีระดมแรงงานในกลุ่มเครือญาติหรือเพื่อนบ้านมาช่วยทำงาน เรียกว่า “เอามื้อเอาวัน” หรือ “เอามื้อเอาแฮง” แบ่งการเกี่ยวข้าวเป็น

การใช้เคียวเกี่ยวข้าว

วิธีเกี่ยวข้าวโดยใช้เคียว ชาวไร่ชาวนาจะถือเคียวด้วยมือข้างที่ถนัด แล้วใช้เคียวเกี่ยวกระหวัดกอข้าวทีละกอ ในขณะเดียวกันก็ใช้มืออีกข้างหนึ่งจับกอข้าวนั้น และออกแรงดึงเคียวให้คมเคียวตัดลำต้นข้าวให้ขาดออกมา โดยทั่วไปจะเกี่ยวให้มีความยาวของต้นข้าวห่างจากรวงข้าว ให้พอเหมาะที่จะนำไปฟาดข้าวได้สะดวก หรือให้มีความยาวของต้นข้าวพอที่จะนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นต่อไปได้ เช่น ใช้คลุมแปลงปลูกหอม กระเทียม เป็นต้น เมื่อเกี่ยวข้าวได้เต็มกำมือแล้ว บางคนจะมัดข้าวเป็นมัดๆ ก่อนวางตากแดด แต่บางคนก็วางตากเลยโดยไม่มัด


การใช้แกระเกี่ยวข้าว

ชาวไร่จะถือแกระด้วยมือข้างที่ถนัด ให้แผ่นใบมีดอยู่ระหว่างนิ้วชี้และนิ้วกลางของมือข้างที่ถือแกระ การเกี่ยวข้าวด้วยแกระจะใช้นิ้วมือข้างที่ถือแกระ จับต้นข้าวทีละต้น ให้ส่วนของลำต้นข้าวโดนคมมีด แล้วปิดข้อมือเล็กน้อย คมมีดก็จะตัดต้นข้าวขาดออกมา การเกี่ยวข้าวด้วยแกระมักจะเกี่ยวห่างจากรวงข้าวประมาณ 1 คืบ เมื่อเกี่ยวข้าวได้เต็มกำมือก็จะนำไปรวมกันในมืออีกข้างหนึ่ง บางคนจะวางในลักษณะสลับหัวสลับท้ายกัน แล้วใช้ตอกมัด

การเกี่ยวข้าว

อุปกรณ์ในการเกี่ยวข้าว
โดยทั่วไปชาวไร่ชาวนาในล้านนาส่วนใหญ่จะใช้เครื่องมือช่วยในการเกี่ยวข้าว ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ
เคียว และ แกระ


เคียว



เป็นเครื่องมือที่ใช้เกี่ยวข้าวชนิดหนึ่ง ซึ่งนิยมใช้เกี่ยวข้าวทั้งข้าวที่ปลูกในนาและข้าวไร่ที่ปลูกบนภูเขา ในอดีตชาวไร่ชาวนาแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์จะทำเคียวขึ้นใช้เอง ซึ่งเป็นเคียวที่มีขนาดเล็กกว่าเคียวเกี่ยวข้าวในภาคกลาง เคียว 1 เล่ม ประกอบด้วย ส่วนที่เป็นด้ามถือและส่วนที่เป็นคมเคียว ส่วนที่เป็นด้ามถือมีทั้งที่ทำด้วยไม้จริงและไม้ไผ่ อาจมีการแกะสลักด้ามเคียวเพื่อความสวยงาม


ส่วนที่เป็นคมเคียวมี 2 แบบ คือแบบคมเรียบเหมือนมีดและแบบคมฟันเลื่อย เคียวที่มีคมเคียวแบบคมฟันเลื่อยและมีความโค้งของตัวคมเคียวน้อย เรียกว่า “เคียวหางไก่หรือเคียวลา” ส่วนเคียวที่มีคมเคียวแบบคมเรียบเหมือนมีด และมีความโค้งของตัวคมเคียวคล้ายครึ่งวงกลม เรียกว่า “เคียวว๊อง




เคียวหางไก่




เคียวว๊อง

แกระ

นอกจากเคียวแล้วชาวเมี่ยนและชาวม้งในบางพื้นที่ ยังมีเครื่องมือเกี่ยวข้าวอีกชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายแกระเกี่ยวข้าวของชาวนาในภาคใต้ ชาวม้งบางพื้นที่เรียกแกระว่า “หวู” หรือ “วู” หวูมักใช้ในการเก็บเกี่ยวข้าวไร่สายพันธุ์ที่มีลำต้นค่อนข้างเหนียว ประกอบกับข้าวไร่มักขึ้นปะปนกับหญ้าและต้นไม้อื่น การใช้หวูเกี่ยวข้าวจะทำได้สะดวกกว่าใช้เคียว เพราะสามารถเลือกเกี่ยวเฉพาะต้นหรือเฉพาะรวงข้าวได้ หวูมี 2 แบบ คือ แบบมีด้ามจับและแบบไม่มีด้ามจับ







แกระ แบบมีด้ามจับ



แกระ แบบไม่มีด้ามจับ

การเก็บเกี่ยว

ความเชื่อ พิธีกรรม (ศรีเลา เกษพรหม ผู้เขียน)

การปักตาแหลว


การปักตาแหลวไว้ 4 มุมของที่นา

เมื่อข้าวเริ่มแก่ พ่อนา (เจ้าของนา) จะสานตาแหลว 3 ตา ผูกติดกับหลักไม้ปักไว้ 4 มุมของที่นา เพื่อป้องกันสัตว์และสิ่งร้ายต่างๆ ไม่ให้มารบกวนข้าว พร้อมกับกล่าวคำโวหารว่า “สัตว์เสด็จไปในอากาศ สัตว์อย่าล่าเหนือดิน อย่าหื้อสูมาใกล้ สัตว์ร้องไห้หนีไป โอมเห เห สวาหะ โอมอ้ายสามตาจุ่งหื้อมึงมาอยู่รักษานา และรักษาไร่กู มีสัตว์สองตา หื้อมึงไล่ไปไกลตกดง หื้อขับไปส่งเสียขุนห้วย โอมอะเลโอมเล สัตว์ทั้งฝูงหื้อหนีไป โอมปุอุเขตตัง อะนุตตะรัง ฮ่าเพี้ยงหัวแดง แมงบ้งหัวสั่น หื้อหนีไปดอย”



ค้างข้าวแรก


ในช่วงที่ข้าวกำลังสุก เจ้าของนาต้องคอยระวังรักษาบริเวณที่ใช้สำหรับทำพิธีแรกนาให้สะอาด เพราะเชื่อว่าเป็นที่สถิตของผีเสื้อนา พระโพสพ และเทวดาอารักษ์ ที่คอยดูแลรักษาข้าว การแสดงความไม่เคารพ เช่น ถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ ในบริเวณนั้น เชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะโกรธ และจะบันดาลให้ผลผลิตในเรือกสวนไร่นาเสียหาย ได้ผลไม่เต็มที่ ซึ่งในสมัยโบราณถือว่าเรื่องนี้สำคัญมากจึงมีข้อกฎหมายกำหนดว่า “ผู้ใดขี้เยี่ยวใส่นาข้าวแรก แดนแต่กาละ(ปลูก) ไปถึงข้าวดีเกี่ยวนั้น หื้อมันหาเหล้า 2 ไห ไก่ 2 คู่ ข้าวตอกดอกไม้ หื้อเจ้านาบูชาเสื้อ(นา)เสียเทอะ” โดยให้บุคคลนั้นนำสิ่งของที่กำหนดไว้ในกฏหมายไปขอขมาเจ้าของนา เจ้าของไร่ เจ้าของสวนที่เสียหาย เพื่อนำไปสังเวย



การแฮกนาก่อนเกี่ยว

การแฮกนาก่อนเกี่ยวข้าว เป็นการทำพิธีก่อนที่จะทำการเกี่ยวจริง เมื่อชาวนาลดน้ำในนาแห้งแล้ว จะหาฤกษ์หาวันที่ดี โดยจะใช้กระทงบรรจุอาหารคาวหวาน หมาก เมี่ยง บุหรี่ พลู กล้วย อ้อย จำนวน 5 กระทง กรวยดอกไม้บรรจุข้าวตอก ดอกไม้ธูปเทียน แล้วนำไปวางบนแท่นบูชาที่จัดเตรียมไว้บริเวณที่เคยทำเป็นค้างข้าวแรก เสร็จแล้วนำไปเซ่นสรวงแม่ธรณีเจ้าที่และแม่โพสพ เพื่อเป็นการบอกกล่าวขออนุญาตเกี่ยวข้าว จากนั้นเจ้าของนาก็ทำพิธีเกี่ยวข้าวเอาฤกษ์ 9 กอ นำไปวางบนแท่นที่เตรียมไว้ เป็นการบูชาแม่โพสพ หลังจากนั้น 2-3 วันเจ้าของนาและคนอื่นช่วยกันเกี่ยวข้าวที่เหลือทั้งหมด อย่างไรก็ตามชาวนาบางคนจะไม่ทำพิธีแฮกก่อนเกี่ยว เนื่องจากถือว่าได้ทำพิธีแฮกก่อนปลูกแล้ว

ขั้นตอนการทำนา

ขั้นตอนการทำนานั้น ได้สะท้อนถึงวิถีชีวิต และภูมิปัญญาไทยควบคู่ไปกับพิธีกรรมความเชื่อต่างๆ ของกลุ่มผู้ทำนา ดังที่จะกล่าวในขั้นตอนการทำนาต่อไปนี้

การปลูกข้าว



การปลูกข้าวตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีวิธีการปลูกข้าวอยู่ 3 วิธีได้แก่


1. การปลูกข้าวไร่ ต้องใช้ไม้ปลายแหลม หรือ “หัวสักลุ่ง” ที่ทำด้วยดินเผารูปกรวยสำหรับ
สวมปลายไม้แทงดินให้เป็นหลุมทีละหลุม แล้วหยอดเมล็ดพันธ์ข้าวลงไป ข้าวไร่เป็นข้าเบา มีอายุเก็บเกี่ยวเพียง 3-4 เดือน ไม่ต้องการน้ำแช่ขัง อาศัยน้ำฝน และความชุ่มชื้นของดิน ได้แก่ ข้าวเหนียวพันธ์บะต๋านของภาคเหนือ ข้าวเหนียวพันธ์ฮากไผ่ของภาคอีสาน และข้าวเจ้าพันธ์กอแหละของภาคใต้


2. การปลูกข้าวแบบนาหว่าน เป็นวิวัฒนาการของการปลูกข้าวที่เปลี่ยนจากการขุดหลุม
หยอดเมล็ดข้าวแบบปลูกข้าวไร่มาเป็นการหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงไปในพื้นดินที่เตรียมไว้ อาจใช้เครื่องมือประเภทจอบสับดินให้ทั่วบริเวณที่จะหว่านข้าว หรือใช้ “ไถ” พลิกดินขึ้นแล้วหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงไป เมื่อฝนตกเมล็ดข้าวก็จะงอกงาม และตกรวง แม้การทำนาหว่านจะได้ผลไม่ดีนัก แต่ก็แสดงให้เห็นว่ามีการนำ “ไถ” ซึ่งเป็นเครื่องมือทำนาที่สำคัญมาใช้


3. การทำนาดำ วิวัฒนาการมาจากการทำนาหว่าน โดยปรับระดับพื้นที่นาให้ราบเสมอกัน
ยกคันนาเพื่อเก็บกักน้ำ และปรับระดับน้ำให้เหมาะสมกับความต้องการของข้าวแต่ละพันธุ์ และจัดระเบียบของการปลูกข้าวได้ตามต้องการ การทำนาดำแบบพื้อนบ้านเริ่มด้วยการ ไถดะ หรือไถครั้งแรก แล้วขังน้ำไว้ให้หญ้าและวัชพืชตาย ต่อมาจึง ไถแปร หรือคราด ก่อน ปล่อยน้ำออก แล้วไถแปรอีกครั้ง ขังน้ำไว้ 1 ถึง 2 วัน จึงคราดดินให้เป็นเทือก แล้วนำกล้ามาดำลงในพื้นที่ที่เตรียมไว้ หากเป็นนาที่ใช้รถไถนา ม้กขังน้ำไว้ในนาก่อน เมื่อไถ และคราดจนหญ้าตาย และดินเป็นเทือกดีแล้ว จึงนำกล้ามาปักดำ

การทำนาทั้งสามวิธีดังกล่าว เป็นการปลูกข้าวแบบพื้นบ้านที่ใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือเครื่องใช้ที่ประดิษฐ์ขึ้นจากภูมิปัญญาของมนุษย์อย่างเรียบง่ายไม่ซับซ้อน แต่มีประสิทธิภาพสูง


ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว

ลงแขก หมายถึง การช่วยเหลือกันในชุมชน

ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว หมายถึง การที่เจ้าของนาจะบอกเพื่อนบ้านให้รู้ว่าจะเกี่ยวข้าวเมื่อใด

และเมื่อถึงวันที่กำหนด เจ้าของนาก็จะปักธงที่นาของตน เพื่อให้เพื่อนบ้านรู้และจะได้มาช่วยกัน

เกี่ยวข้าว ทั้งนี้เจ้าของนา จะจัดเตรียมอาหาร คาวหวาน น้ำดื่ม ไว้รองรับ


ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวนี้เป็นประเพณีที่แสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจของคนไทยที่มีการช่วย

เหลือซึ่งกันและกัน และสามารถช่วยสร้างความสมัครสมานสามัคคีกันในหมู่บ้าน อีกทั้งยังทำ

ให้เกิดวัฒนธรรม และภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบทอดต่อไปยัง

ชนรุ่นหลัง