วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552

วิธีการนวดหรือฟาดข้าว

วิธีการทำให้ข้าวเปลือกหลุดออกจากรวงข้าวมีหลายวิธี ได้แก่ การย่ำข้าว การตีข้าวและการฟาดข้าว

การย่ำข้าว ในอดีตชาวไร่ชาวนาบางพื้นที่มีวิธีทำให้ข้าวเปลือกหลุดออกจากรวงข้าว โดยใช้เท้าเหยียบข้าวเฟ่า เรียกว่า “ย่ำข้าว” เริ่มจากเอาสาดกะลาปูบนตารางที่เตรียมไว้ แล้วเอาข้าวเฟ่ามาวางบนสาดกะลา และให้คนใช้เท้าเหยียบข้าวเฟ่าหลายๆ ครั้ง สลับกับการใช้เท้าพลิกข้าวเฟ่ากลับไปกลับมา จนข้าวเปลือกหลุดออกจากข้าวเฟ่านั้น บางคนจะใช้มือลูบบริเวณรวงข้าวซ้ำอีกครั้ง เพื่อตรวจดูให้แน่ใจว่าข้าวเปลือกหลุดจากรวงข้าวหมดแล้ว หลังจากนั้นจึงเอาฟางข้าวออกไปกองไว้นอกสาดกะลา ทำเช่นนี้เรื่อยไป

การใช้ไม้ตีข้าว ชาวลัวะในบางพื้นที่จะใช้วิธีเข้าไปยืนในสาดกะลาที่ปูไว้ แล้วเอาข้าวเฟ่ามาประมาณ 1 หอบ ใช้ขาบริเวณเหนือข้อเท้าเล็กน้อยหนีบข้าวเฟ่าเอาไว้ ส่วนของต้นข้าวจะเอนราบไปบนสาดกะลา หันรวงข้าวออกไปทางด้านหน้าของผู้ตี ส่วนชาวขมุในบางพื้นที่จะเอาข้าวเฟ่าวางไปบนสาดกะลาเลย แล้วใช้ 2 มือถือ “ก๋าลี” ข้างละอัน แล้วฟาดก๋าลีไปที่ข้าวเฟ่า การฟาดจะฟาดสลับกันทีละข้าง ซ้ายทีขวาที โดยจะฟาดอย่างต่อเนื่องกันหลายๆ ครั้ง และพลิกข้าวเฟ่ากลับเอาข้าวเฟ่าที่อยู่ด้านล่างขึ้นมาตี เมื่อเห็นว่าข้าวเปลือกหลุดออกจากรวงแล้ว ก็จะใช้ก๋าลีหันด้านโค้งงอเข้าหากันไปหนีบข้าวเฟ่าที่ฟาดแล้ว ยกขึ้นมาเขย่าหลายๆ ครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าข้าวเปลือกหลุดออกจากรวงข้าวหมดแล้ว


การฟาดข้าว เป็นการทำให้ข้าวเปลือกหลุดออกจากรวง ผู้ที่ทำหน้าที่ฟาดข้าวจะใช้ม้าวหรือไม้หนีบ(ดูอุปกรณ์ในการฟาดข้าวประกอบ) ไปรัดหรือหนีบโคนของข้าวเฟ่า (ส่วนการใช้ไม้แก๊งจะใช้เชือกที่ผูกติดกับไม้แก๊งทำเป็นห่วงไปคล้องส่วนโคนของข้าวเฟ่า ดึงเชือกให้ห่วงรัดข้าวเฟ่าให้แน่น โดยให้ปลายแหลมของไม้แก๊งแนบไปกับข้าวเฟ่า) เอาฟาดไปบนอุปกรณ์ที่ใช้รองรับ และมักจะเรียกวิธีฟาดข้าวนั้นตามอุปกรณ์ที่ใช้รองรับ เช่น ถ้าฟาดข้าวกับพื้นตารางก็เรียกว่า “ตีตาราง” ถ้าใช้ครุรองรับ เรียกว่า“ตีครุ” และ ถ้าใช้แคร่รองรับเรียกว่า “ตีแคร่

1 ความคิดเห็น: